Sutthasinee - เทคนิคการประกอบรักษางานแกะสลัก



เทคนิคการประกอบรักษางานแกะสลัก

1. ผักและผลไม้เมื่อแกะสลักเสร็จแล้วทุกครั้งควรจะล้างน้ำเย็นจัดก่อน จึงนำไปจัดแต่งในกรณีที่ยังไม่นไปใช้ให้คลุมด้วย้าขาวบางชุบน้ำพอหมาด ใส่กล่องเข้าตู้เย็น เมื่อจะนำมาใช้ นำมาล้างน้ำเย็นจัดอีกครั้งก่อนจัด จะช่วยให้งานแกะสลักสดขึ้น

2. กรณีที่งานแกะสลักไม่สามารถจะเก็บใส่ตู้เย็นได้ ให้คลุมด้วยผ้าขาวบางชุบน้ำพอหมาดไว้ตั้งเก็บในที่ที่ลมไม่พัดผ่านเกินไป และไม่อบอ้าวเกินไป เพราะจะทำให้งานแกะสลักเหี่ยวเฉาเร็ว

3. บีทรูทเมื่อนำมาแกะสลัก ควรปอกเปลือกแล้วล้างด้วยน้ำเกลือเจือจาง จะช่วยไม่ให้สีจากบีทรูทออกมาก บีทรูทเมื่อทิ้งไว้จะแห้งดำ ต้องหมั่นฉีดน้ำบ่อยๆ

4. ฟักทองเมื่อแกะสลักเสร็จแล้ว ล้างด้วยน้ำเย็นจัด ห้ามแช่น้ำจะทำให้ปลายกลีบเน่าเร็ว

5. งานแกะสลักที่แกะสลักเพื่อบรรจุอาหารนึ่ง เช่น ผอบฟักทองสังขยา ก่อนนำไปนึ่งให้วางลงในภาชนะอื่น เช่น ถ้วย ที่มีขนาดพอเหมาะกับงานแกะสลัก เพื่อบังคับรูปทรง เวลานึ่งให้คงเดิมไม่แตกหรือฉีกออก เวลานึ่งควรใช้ไฟปานกลาง ไม่ใช้ไฟแรงเกินไป

6. ผักผลไม้ เช่น มะเขือ มะม่วง ฝรั่ง ชมพู่ ขณะแกะสลักหมั่นล้างน้ำผสมน้ำเกลือเจือจางหรือน้ำมะนาวเจือจาง ช่วยไม่ให้ผักผลไม้แกะสลักดำ

7. งานแกะสลักที่จะต้องนำไปเชื่อม เช่น ฟักทอง สาเก เผือก ควรแกะสลักกลีบดอกให้ใหญ่และหนาขึ้น เวลาเชื่อมกลีบดอกจะได้ไม่หัก ก่อนเชื่อมควรแช่น้ำปูนใส

8. ส้มโอที่แกะสลักเปลือก เมื่อแกะเนื้อออกหมดแล้ว นำเปลือกไปแช่ในน้ำผสมน้ำมะนาวเจือจาง และเย็นจัด เพื่อว่าเปลือกส้มโอจะได้แข็งสดขึ้น

9. แตงโมเมื่อแกะสลักเสร็จแล้วล้างน้ำเย็นจัด ห่อผ้าขาวบางไว้ ถ้าจะจัดเสิร์ฟ แตงโมที่แกะสลักเป็นดอกทั้งลูก ต้องใช้มีดเซาะตามร่องกลีบให้ลึก เวลาจะรับประทานใช้ส้อมจิ้มออกมาได้เลย

10. ผักที่ใช้แกะสลักถ้าจะต้องนำไปทำให้สุก เช่น สลัดผักสุก ควรนำไปลวกในน้ำเดือดจัด พอผักเป็นสีเขียวจัดตักขึ้น ล้างน้ำเย็นจัด จะทำให้ผักสีไม่เปลี่ยน ถ้าต้มผักนาน ผักจะดำ จัดแล้วไม่น่ารับประทาน

11. ผักแกะสลักที่ใส่ลงในอาหาร เช่น แกงจืด ผัดหรือแกงต่างๆ ควรนำไปต้มหรือนึ่งให้สุก แล้วค่อยมาใส่ในอาหารทีหลัง เพื่อว่าดอกใบที่แกะสลักจะได้ไม่หักหรือเละเสียรูป

12. มะม่วงที่จะแกะสลักควรปอกเปลือกจนหมดผิวเขียว จะทำให้ไม่ดำ

13. แกะสลักหัวหอมควรหมั่นชุบไวหอมในน้ำบ่อยๆ จะได้ไม่แสบตา เมื่อแกะสลักเสร็จแล้วนำไปแช่น้ำเย็นจัด 5-10 นาที ดอกจะบาน กลีบแข็งทน

14. มันฝรั่ง ก่อนแกะสลักปอกเปลือกล้างยางออกให้หมด เมื่อแกะสลักเสร็จแล้ว เช่นน้ำประมาณ 10-15 นาที ล้างยางออก ทำให้มันฝรั่งไม่ดำ

15. เผือก เมื่อจะนำมาแกะสลัก ล้างให้สะอาด ปอกเปลือกแล้วไม่ต้องล้าง แกะสลักได้เลยไม่ควรนำไปล้างน้ำ เพราะจะทำให้เป็นเมือกและคัน เมื่อแกะสลักเสร็จแล้ว นำไปล้างน้ำผสมสารส้มเจือจาง

16. การแกะสลักน้ำเต้า ควรจุ่มล้างน้ำบ่อยๆ เพราะน้ำเต้ามียางมาก ไม่เช่นนั้นน้ำเต้าจะดำ

17. ดอกใบที่แกะสลักจากมะละกอห่ม หัวผักกาด เปลือกส้มโอเมื่อจัดตกแต่งเสร็จแล้ว นำไปทำแกงส้มได้เลย ฉะนั้นเมื่อจะย้อมสีควรใช้สีผสมอาหาร

18. แตงกวาแกะสลักดอกใบเสร็จแล้ว แช่น้ำเย็นจัด 10-15 นาทีดอกจะบานสวย ใบก็จะกระดกสวย

19. วุ้นที่จะนำมาแกะสลัก ควรเคี่ยวให้นานกว่าปกติที่ทำทานกันเพื่อว่าวุ้นที่ได้จะแข็งและเหนียวกว่าที่ทานกัน ทำให้แกะสลักง่ายขึ้น ไม่หักเปราะง่าย

20. การแกะสลักสบู่ ต้องเลือกสบู่ที่มีเนื้อนิ่ม จะแกะสลักง่าย ขณะแกะสลักถ้ายังทำไม่เสร็จควรเก็บใส่ถุงพลาสติก หรือกล่องปิดฝาได้อย่าให้โดนลม ถ้าทิ้งไว้ตากลม สบู่จะแข็ง แกะสลักอีกต่อไปไม่ได้จะแตก

21. เมื่อแกะสลักสบู่เสร็จแล้ว ใช้พู่กันปัดตามซอกดอกออกให้หมด

22. การเก็บรักษา อย่าตั้งวางไว้ในที่แดดส่อง สีจะซีดเร็ว เมื่อตั้งไว้นานเข้ามีฝุ่นจับมากๆ ก็ใช้พู่กันปัดออกให้หมด หรือใช้พู่กันจุ่มครีมทาผิว ปัดให้ทั่วทั้งดอก จะทำให้ดอกสดใสใหม่ขึ้นกว่าเดิม

23. พุทรา ขณะแกะสลักไม่ควรจุ่มน้ำจะทำให้ลื่นและเป็นขุย เมื่อแกะสลักเสร็จแล้ว นำไปล้างน้ำมะนาวเจือจาง

24. ดอกไม้แกะสลักที่ใช้ปักแจกัน ก้านและใบไม้ที่นำมาประกอบควรเลือกชนิดทีรับประทานได้ เมื่อตั้งโชว์เสร็จแล้ว สามารถนำดอกมาประกอบอาหารควรหวานได้ตามต้องการ

25. ละมุดที่แกะสลักเสร็จแล้วล้างน้ำเย็นจัด นำขึ้น อย่าแช่น้ำเพราะละมุดจะอมน้ำไม่น่ารับประทาน ก่อนเสิร์ฟชุบน้ำเชื่อมใส จะทำให้เป็นเงาน่ารับประทานขึ้น

26. ดอกไม้แกะสลักที่ต้องการแต้มสี ให้แกะสลักเสร็จจนครบแล้ว ก่อนจัดแต้มสีพร้อมกันจะทำให้สีสม่ำเสมอกันดี

27. การเลือกสับปะรดที่จะนำมาแกะสลัก ควรเลือกหัวที่สดใหม่ ไม่ฉ่ำจะแกะสลักง่ายกว่าสับปะรดที่เก็บไว้นาน หรือฉ่ำเกินไป

28. มะละกอห่ามที่แกะสลักออกมาแล้วสีสวยมก คือพันธุ์แขกดำ

29. การเลือกมันแกวที่จะนำมาแกะสลัก ควรเลือกมันแกวอ่อน ถ้านำมันแกวแก่มาแกะสลักจะเป็นเส้นขุย และเลือกมันแกวสด ขั้วยังเขียวอยู่ ถ้ามันแกวเก่ามักจะฝ่อ

30. ในการแกะสลักแต่ละครั้ง ต้องใช้มีแกะสลักที่คม มิฉะนั้นกลีบดอกจะช้ำ งานแกะสลักจะไม่สวยเท่าที่ควร จึงควรหมั่นลับมีให้คมอยู่เสมอ


Today, there have been 69 visitors (143 hits) on this page!

This website was created for free with Own-Free-Website.com. Would you also like to have your own website?
Sign up for free